8 สัญญาณเตือน โรคตาแห้ง
โรคตาแห้ง จัดเป็นโรคฮิตของชาวออฟฟิศ เพราะต้องใช้สายตาในการทำงานตลอดทั้งวัน การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานานโดยไม่ได้พักสายตา เป็นสาเหตุหลักของโรคตาแห้ง หากปล่อยไว้นานจนอาการเรื้อรัง เปลือกตาจะรั้งขนตาให้ลงมาทิ่มตา จนเกิดการอักเสบของกระจกตา ถึงขั้นทำให้กระจกตาเป็นแผลได้ ถ้าไม่อยากเป็นโรคตาแห้ง มาดูกันดีกว่าว่าอาการแบบไหนที่เข้าข่ายโรคตาแห้ง รู้แล้วจะได้หลีกเลี่ยงและหาทางรักษาให้ถูกจุด
สัญญาณเตือน อาการที่ไม่ควรมองข้าม
หากเกิดอาการเหล่านี้บ่อยๆ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรหาวิธีรักษาที่ถูกต้อง เพื่อดูแลถนอมดวงตาของเราให้อยู่กับเราไปนานๆ
- ตามัว
ภาวะตามัว จะรู้สึกเหมือนมีฝ้าหรือหมอกบังตา ทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ชัดเจน เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในนั้นอาจมาจากโรคตาแห้ง ซึ่งเกิดได้จากการที่ดวงตามีน้ำตามาหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอ จากอาการตาล้า การเจ็บป่วยบางประเภท หรือการใช้ยาบางชนิด ซึ่งการกระพริบตาหรือการใช้น้ำตาเทียมชดเชยน้ำตามธรรมชาติที่ไม่เพียงพอ สามารถบรรเทาอาการตามัวได้
- แพ้แสง
อาการแพ้แสง ทำให้ดวงตารู้สึกระคายเคือง ไม่สบายตา เวลามองเห็นแสงแดด จนต้องหรี่ตา มีอาการแสบตา ตาแดง น้ำตาไหล ไปจนถึงการที่มีสารคัดหลั่งสีเขียวเหลืองออกมาจากดวงตา เบื้องต้นจึงควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ดวงตาสัมผัสแสงโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด แสงไฟนีออน หรือแสงจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ
- น้ำตาไหล
ผู้ที่มีอาการตาแห้ง มักมีอาการตามัว ร่วมกับน้ำตาไหล เพราะเมื่อดวงตาเกิดอาการพร่ามัวลง ระบบประสาทจะถูกกระตุ้นให้เกิดการหลั่งน้ำตาโดยอัตโนมัติ
- รู้สึกเหมือนมีเม็ดทรายในตา
เมื่อเกิดอาการตาแห้ง เวลากระพริบตา ผู้ป่วยมักจะรู้สึกคล้ายกับว่ามีฝุ่นหรือเม็ดทรายอยู่ในตาของเราตลอดเวลา จึงมักมีอาการคันและเคืองตาร่วมด้วย
- เคือง / คันตา
อาการระคายเคืองหรือคันตา ทำให้รู้สึกแสบตา ไม่สบายตา จากการที่มีน้ำตาหล่อเลี้ยงดวงตาน้อยกว่าปกติ รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตา ทำให้เกิดอาการเคือง หรือคันตาได้ โดยอาการนี้ อาจหนักขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นตาอักเสบได้
- ตาแห้ง
เกิดจากการที่ต่อมไมโบเมียน หรือต่อมน้ำตา ที่ทำหน้าที่สร้างน้ำตามาหล่อเลี้ยงลูกตา ทำงานผิดปกติ จึงทำให้เกิดภาวะตาแห้งได้โดยตรง
- ตาแดงบ่อยๆ
เมื่อดวงตามีการระคายเคือง จะเกิดการอักเสบ ซึ่งอาการอักเสบนำไปสู่อาการตาแดงได้ หากตาแดงบ่อยๆ เบื้องต้นสามารถใช้น้ำตาเทียม เพื่อลดอาการอักเสบ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ตาล้า
ลักษณะเด่นๆ ของอาการตาล้า คือการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตา ตามัว ตาพร่า มองเห็นภาพซ้อน ตาแดง ตากระตุก นอกจากนี้ยังอาจรู้สึกระคายเคืองรอบดวงตาได้
ความเสี่ยงที่อาจทำให้เป็นโรคตาแห้ง

จ้องหน้าจอคอม มือถือ อาชีพที่ต้องนั่งหน้าจอคอม หรือคนที่จ้องจอสมาร์ทโฟนนานเป็นวันๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคตาแห้งมากกว่าคนกลุ่มอื่น
คอนแทคเลนส์ จากสถิติ พบว่าในจำนวนผู้ที่เป็นโรคตาแห้ง มีจำนวนครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวที่ใส่คอนแทคเลนส์
โรคประจำตัว โรคความดันโลหิตสูง โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคซึมเศร้า หรือโรคเบาหวาน จำเป็นต้องรับประทานยาบางตัวที่อาจมีผลให้เป็นโรคตาแห้งได้
เคยผ่าตัดตา หลังจากผ่าตัดตาสองชั้น ในบางเคสจะมีการผ่าตัดไขมันเปลือกตาออก ทำให้น้ำตาระเหยได้ง่าย เนื่องจากไม่มีไขมันป้องกันการระเหย หรือหลังผ่าตัดใหม่ๆ ดวงตาอาจจะยังปิดไม่สนิท ทำให้เกิดอาการตาแห้งได้
การใช้ยาเป็นประจำ ยาบางชนิด มีผลให้การสร้างน้ำตาลดลง เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดอาการตาแห้งได้
อายุเยอะ อายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต่อมไขมันเริ่มเกิดการอุดตัน รวมถึงระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ลดลง ทำให้ปริมาณน้ำตาลดลงตามไปด้วย
เครื่องสำอาง แต่งหน้าบล็อกตาแน่นปังทุกวัน และล้างเครื่องสำอางออกไม่หมด อาจเกิดการสะสมและอุดตันของเครื่องสำอางที่บริเวณต่อมผลิตน้ำตา (ต่อมไมโบเมียน) ส่งผลให้ไม่สามารถผลิตน้ำตาได้เพียงพอ จึงเกิดอาการตาแห้งได้
อยู่ในห้องแอร์ ภายในห้องแอร์ อากาศจะค่อนข้างแห้ง ซึ่งการอยู่ในห้องแอร์นานๆ อาจทำให้เกิดอาการตาแห้งได้ง่ายกว่าการอยู่ในที่ๆ มีอุณหภูมิปกติ
วิธีการรักษา เมื่อเป็นโรคตาแห้ง
1. อย่างที่ทราบแล้วว่าโรคตาแห้ง มีสาเหตุมาจากต่อมไมโบเมียน ไม่สามารถผลิตน้ำตาได้เพียงพอ เพราะอาจเกิดจากการที่มีไขมัน หรือสิ่งสกปรกไปอุดตัน ดังนั้นการนวดและฟอกทำความสะอาด กำจัดไขมัน เชื้อโรคและสิ่งสกปรกที่อุดตันบริเวณเปลือกตาและขอบตา จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะช่วยให้ต่อมไมโบเมียนสามารถผลิตน้ำตาทำงานได้ตามปกติ และยังช่วยลดอาการอักเสบ ระคายเคืองตาได้เป็นอย่างดี
2. ใช้น้ำตาเทียม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นและเพิ่มน้ำหล่อเลี้ยงในดวงตา ช่วยบรรเทาอาการระคายเคืองจากอาการตาแห้ง
3. ถนอมสายตาด้วยการพักสายตาเป็นระยะ ขณะทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ หรือพยายามกระพริบตาถี่ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคตาแห้งได้